ประวัติความเป็นมา

หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ได้เปิดการเรียนการสอนเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2545 โดยมีสถานะเป็นสาขาวิชานิติศาสตร์ สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ต่อมามหาวิทยาลัยนเรศวรได้มีนโยบายแบ่งส่วนราชการใหม่ เพื่อกระจายอำนาจบริหารและพัฒนาองค์ความรู้เฉพาะด้าน ด้วยเหตุนี้ ในคราวประชุมครั้งที่ 107(3/2546) ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2546 สภามหาวิทยาลัยนเรศวรมีมติเห็นชอบยกฐานะสาขาวิชานิติศาสตร์ให้เป็นคณะนิติศาสตร์ขึ้น โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2546 เป็นต้นไป

เป้าหมายสำคัญในการก่อตั้งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คือการขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับท้องถิ่น เปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นได้ศึกษากฎหมายในลักษณะที่ใกล้ชิดกับผู้สอน มีโอกาสอภิปราย ซักถาม คิดค้นหาเหตุผลในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของชุมชนท้องถิ่น นอกจากนั้นคณะนิติศาสตร์ยังมีปณิธานที่ต้องการสร้างนักกฎหมายที่มีคุณธรรม จริยธรรม สามารถดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นที่พึ่งของสังคม

ในระยะยาวมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นศูนย์กลางการศึกษาในเขตเก้าจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพที่สมบูรณ์ ประกอบด้วยการสั่งสมภูมิปัญญาท้องถิ่นจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง และพร้อมที่จะรับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “เศรษฐกิจแห่งภูมิปัญญา และการเรียนรู้” ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงทรัพยากรที่เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมแห่งภูมิปัญญา และปกป้องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดจากงานสร้างสรรค์ดังกล่าว

การจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ จึงถือเป็นการตอบสนองต่อนโยบายของมหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้กฎหมายของชุมชนภาคเหนือตอนล่าง เพื่อเสริมสร้างความรู้ให้กับประชาชนในการปกป้องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของชุมชนจึงกล่าวได้ว่าภารกิจที่สำคัญของคณะนิติศาสตร์นอกจากจะเป็นแหล่งวิชาความรู้ของผู้ที่เข้ามาศึกษาแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งวิชาการของสังคมที่เชื่อมโยงการจัดการองค์ความรู้ในระดับสากลสู่การพัฒนาท้องถิ่น โดยเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาเฉพาะถิ่นในเขตเก้าจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง โดยอาศัยความรู้ของบุคลากรซึ่งมีทั้งอาจารย์ เจ้าหน้าที่สายสนับสนุน นิสิต ประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคมอื่น และภาคเอกชน ที่ประสานการทำงานสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ

ด้วยเหตุนี้การก่อตั้งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นอกจากจะเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชนในภูมิภาคแล้ว ยังทำหน้าที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน จัดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และให้บริการวิชาการที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนท้องถิ่นซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศโดยรวม

Loading